รองผบ.ทบ. ลงพื้นที่ดูผลงาน กอ.รมน.ปลุกแม่น้ำพิจิตรคืนชีพ ทำหน้าที่แก้มลิงหน่วงน้ำ แก้ท่วมช่วยแล้ง
วันเสาร์ที่ 14 กันยายน 2562 พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์มาที่จังหวัดพิจิตร โดยมี นายวิทยา มากปาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร , พ.อ.วีรวัฒน์ วิวัฒน์วานิช รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดพิจิตร, พลตรีถนัดพล โกศัยเสวี ผบ.มทบ.36 , พล.ต.ต.ธวัชชัย มวญนรา ผู้บังคับการตำรวจภูธรพิจิตร พร้อมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนกลุ่มขุนศึกลูกพ่อปู่กอบกู้แม่น้ำพิจิตรนับ100คนร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปถึงการปฏิบัติงานของ กอ.รมน.พิจิตร และภาคประชาชนที่ร่วมกันกอบกู้ฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตร ที่มีต้นแม่น้ำพิจิตรติดกับแม่น้ำน่าน ปลายแม่น้ำพิจิตรติดกับแม่น้ำยมที่บริเวณหน้าวัดหลวงพ่อเงินบางคลาน มีระยะทาง 127 กม.ผ่านพื้นที่ 5 อำเภอของ จ.พิจิตร ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรกว่า 3 หมื่นไร่ แต่ปรากฏว่าแม่น้ำพิจิตรถูกปล่อยทิ้งให้ตื้นเขินมีวัชพืชหนาแน่น ถูกชาวบ้านรุกล้ำอย่างหนัก โดยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ภาคประชาชนและ กอ.รมน.จว.พิจิตร จึงได้ร่วมกันกอบกู้ให้แม่น้ำพิจิตรกลับคืนมาให้ได้ทำหน้าที่เป็นแม่น้ำอีกครั้ง โดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. ได้เดินทางมาติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาแม่น้ำพิจิตร และวิธีที่ กอ.รมน.จว.พิจิตร ร่วมกับกรมชลประทาน นำน้ำฝนที่ตกใต้เขื่อนสิริกิติ์จากพายุ"โพดุล" เข้ามาเก็บในแก้มลิง แม่น้ำพิจิตร และบึงสีไฟ เพื่อเตรียมการรับมือสู้กับภัยแล้งที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า รวมถึงดูวิธีการทำให้แม่น้ำพิจิตรทำหน้าที่ช่วยตัดมวลน้ำของแม่น้ำน่าน จากอำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ก่อนที่จะไหลมารวมกับมวลน้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ซึ่งไหลมาตามแม่น้ำวังทอง และคลองชมพู ทำให้สามรถลดความรุนแรงของน้ำท่วมตลอดริมฝั่งแม่น้ำน่านในเขต จ.พิษณุโลก และ จ.พิจิตร ลงได้ ถือเป็นการปฏิบัติการที่ได้ผลดี และเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการเก็บน้ำเข้าแก้มลิงต่างๆตามศาสตร์พระราชา ซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้กองทัพบกและ กอ.รมน. รวมถึงมูลนิธิอุทกพัฒน์ ให้ช่วยระดมสรรพกำลังมาต่อยอดในการพัฒนาแม่น้ำพิจิตรให้ดีขึ้นกว่าเดิมขึ้นไปอีก รวมถึงจะได้จัดหางบประมาณมาขุดลอกแม่น้ำพิจิตรเพื่อให้เป็นแม่น้ำที่สมบูรณ์แบบ ทั้งนี้เพื่อเกษตรกรจะได้มีน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร อีกทั้งแม่น้ำพิจิตรแห่งนี้ก็จะเป็นแก้มลิงที่สำคัญแก้น้ำท่วม-แก้ภัยแล้ง ได้อีกด้วย สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ก็เพื่อจะได้วางแผนในการพัฒนาแม่น้ำพิจิตรควบคู่กับบึงสีไฟ รวมถึง ห้วย หนอง คลอง บึง และคลองสาขาต่างๆที่เป็นธรรมชาติให้เชื่อมต่อกันเป็นระบบแก้มลิงขนาดใหญ่ เป็นโครงข่ายน้ำที่เชื่อมประสานแม่น้ำน่าน แม่น้ำยม และแม่น้ำพิจิตรเข้าด้วยกัน ให้สมกับที่พิจิตรเป็น “พิจิตรเมืองงาม นามสามแคว” ที่มีการบริหารจัดการน้ำตามยุทธศาสตร์น้ำ ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อความมั่นคงมั่งคั่งทางด้านการเกษตรต่อไป