กอ.รมน.ลุยตรวจโรงสีปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำพิจิตรทำลายสิ่งแวดล้อมจ่อใช้ม.157ผู้เกี่ยวข้องมีอำนาจหน้าที่แต่ละเว้น
18 ต.ค. 2561 ความคืบหน้าจากการที่มีราษฎรในพื้นที่ตำบลย่านยาว อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ได้ร้องทุกข์ไปยังศูนย์ดำรงธรรมและ กอ.รมน.พิจิตร ว่า น้ำในแม่น้ำพิจิตรที่บริเวณวัดถ้ำชาละวันไปจนถึงบริเวณปากประตูน้ำของแม่น้ำพิจิตรที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำน่านพบว่ามีน้ำเน่าเสียส่งผลให้มีปลาตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 เมื่อทราบเหตุ กอ.รมน.พิจิตร จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ-บันทึกภาพ-เก็บหลักฐาน และค้นหาจุดต้นตอที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาข้างต้นก็พบว่าโรงสีซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำพิจิตรที่ตำบลย่านยาว น่าจะเป็นต้นเหตุจึงได้เข้าตรวจ ซึ่งก็พบกับตัวแทนของโรงสีที่ออกมาชี้แจงว่า โรงสีรู้เรื่องที่เกิดน้ำเสียจากโรงสีรั่วซึมลงในแม่น้ำพิจิตรก่อนเจ้าหน้าที่ของ กอ.รมน.พิจิตรจะมาตรวจเสียอีก แต่ก็ปฏิเสธว่าไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้น้ำเน่าจนปลาตายแถมประกาศท้าทายว่าถ้าโรงสีเป็นต้นเหตุว่าน้ำที่ผสมกับขี้เถ้าแกลบดำไหลรั่วซึมลงไปในแม่น้ำพิจิตรแล้วทำให้ปลาตายจะจ่ายให้ตัว 1 ล้านบาท อีกทั้งได้ไปลงบันทึกประจำวัน ที่ สภ.ย่านยาว ซึ่งเปรียบเสมือนการรับสารภาพกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น แต่ปฏิเสธว่าไม่ใช่ผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม ล่าสุด พลโท กิตติศักดิ์ บุญสุข ที่ปรึกษา ศปป.4 กอ.รมน. พร้อมด้วย พลอากาศตรี บรรเจิด บัวสมบูรณ์ ที่ปรึกษา ศปป.4 กอ.รมน. ได้เป็นผู้นำชุดปฏิบัติการลงพื้นที่โดยได้ประสานไปยัง นายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.พิจิตร ซึ่งก็ได้มอบหมายให้ พ.อ.วีรวัฒน์ วิวัฒน์วานิช รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดพิจิตร ประสานไปยัง นายสุชิน ธรรมพิทักษ์ ผอ.สนง.เจ้าท่าภูมิภาคสาขานครสวรรค์ , สนง.สิ่งแวดล้อมภาค 4 , ศูนย์ดำรงธรรมพิจิตร ,นายอำเภอเมืองพิจิตร, อุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร ,ที่ดินจังหวัดพิจิตร, สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ฯลฯ ร่วมกันเข้าตรวจโรงสีดังกล่าวว่าดำเนินกิจการประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทำถูกต้องตามกฎหมายหรือเปล่า? ซึ่งจากการเข้าตรวจพื้นที่ที่บริเวณด้านหลังของโรงสีที่ติดกับแม่น้ำพิจิตรก็พบมีการขุดบ่อทิ้งน้ำเสียจำนวนหลายบ่อที่ติดกับแม่น้ำพิจิตร อีกทั้งก่อนหน้านี้เมื่อประมาณวันที่ 11 สิงหาคม 2559 โรงสีแห่งนี้ก็เคยทิ้งขี้เถ้าแกลบดำจำนวนนับพันตันลงในแม่น้ำพิจิตร ซึ่งก็มีชาวบ้านร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรม และ กอ.รมน.พิจิตร มาครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งคราวนั้นทางราชการก็ใช้หลักสมานฉันท์ปรองดองสั่งการแนะนำให้โรงสีดำเนินการแก้ไขและขอร้องจงอย่าได้ทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นการกล่าวโทษและภาคทัณฑ์ไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่สุดท้ายเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 ก็มีเหตุการณ์ปล่อยให้น้ำเสียไหลลงสู่แม่น้ำพิจิตรจนเป็นเหตุน้ำเน่าและปลาตาย แต่ผู้ประกอบการณ์โรงสีแห่งนี้ก็ยังออกมาต่อสู้เสียงแข็งว่าไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้น้ำเน่าและปลาตายรวมถึงท้าให้ตรวจโรงงานจนเป็นที่มาของการระดมสรรพกำลังของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโรงงานต้องเข้าตรวจเพื่อสร้างบรรทัดฐานการบังคับใช้กฎหมายและความถูกต้องของผู้ประกอบการโรงงานที่จะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมิใช่เห็นแก่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมจนเป็นเหตุข้างต้นดังกล่าว อีกทั้งการลงพื้นที่ครั้งนี้ของ พลโท กิตติศักดิ์ บุญสุข ที่ปรึกษา ศปป.4 กอ.รมน. ก็ได้ให้คำแนะนำและกำชับส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่า ทุกคน ทุกหน่วยงาน มีอำนาจหน้าที่ หากไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบราชการขอให้พึงระวังว่า จากการที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจต้องตกเป็นผู้ต้องหาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งมีโทษจำคุกอีกด้วย ในส่วนของ นายชนะภูมิ วงษ์ดี นิติกรชำนาญการช่วยราชการ ศปป.4 กอ.รมน.ให้สัมภาษณ์ว่า จากการลงพื้นที่พบว่าโรงสีดังกล่าวมีการเทกองของเสียหรือของเหลือใช้ในบริเวณโรงงาน ซึ่งขัดต่อเงื่อนไขของใบอนุญาตตามที่กรมโรงงานออกเงื่อนไขกำหนดพิเศษไว้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวพบว่าฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งได้สั่งให้ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ส่วนการบังคับใช้กฎหมายหรือดำเนินคดีก็ต้องขึ้นอยู่ว่าหน่วยงานใดถือกฎหมายประเภทใดได้รับความเสียหายหรือไม่ อย่างไร ถ้ามีหรือพบก็ต้องแจ้งความดำเนินคดี แต่ถ้าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก็อาจจะต้องตกเป็นผู้ต้องหาเสียเองก็อาจเป็นได้