พิจิตรคณะทำงานตรวจเหมืองทองอัคราหาปมผิดยังไม่เจอเตรียมเชิญ บก.ปทส. มาชี้เป้า
มหากาพย์เหมืองทองอัคราฯ หลังเจอ ม.44 สั่งปิด ยังหาทางออกและหาจุดจบยังไม่เจอ ก่อนหน้านี้จังหวัดพิจิตร ตั้งคณะกรรมการลงพื้นที่ตรวจสอบ หลัง บก.ปทส. อ้างมีผู้ร้องเรียนบุกรุกป่าและทางสาธารณะที่ฝ่ายเหมืองทองก็ยืนยันว่าทำถูกต้อง ล่าสุดหลังจากลงพื้นที่ประชุมเครียด ผลออกมา ปรากฏว่าหาปมผิดยังไม่เจอ ที่เจอก็ไม่ชัดเจน เตรียมเชิญ บก.ปทส. มาชี้เป้า ฝ่ายเหมืองทองอัคราฯ ก็ยังยืนกราน ทำถูกต้อง ไม่หวั่นหากต้องถูกตรวจสอบ วันที่ 24 มี.ค. 2563 นายพยนต์ อัศวพิชยนต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ถึงความคืบหน้าจากกรณีที่ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้ร่วมกันกับป่าไม้จังหวัดพิจิตร – อุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร – ที่ดินจังหวัดพิจิตร – สปก. พิจิตร – นายอำเภอทับคล้อ – นายก อบต.เขาเจ็ดลูก ที่จังหวัดพิจิตรตั้งขึ้นเป็นคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบเหมืองแร่ทองคำอัครา ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ซึ่งถูก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในยุครัฐบาล คสช. ใช้อำนาจตาม ม.44 สั่งปิดเหมืองทองอัครา จากนั้นฝ่ายเหมืองทองอัคราฯ หรือ บริษัทคิงส์เกต ได้ร้องไปยังอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อขอความเป็นธรรม โดยร้องว่าเหมืองทองอัคราถูกปิดกิจการโดยไม่ชอบธรรม ไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ รัฐบาลใช้อำนาจโดยพลการ ซึ่งการร้องในครั้งนั้น ได้เรียกร้องค่าเสียหายตามหลักคิดคำนวณ ซึ่งเป็นตัวเงินจำนวนมหาศาล แต่อยู่ในชั้นความลับที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่เปิดเผย โดยเมื่อวันที่ 1-10 ก.พ. 2563 ตัวแทนฝ่ายบริษัทคิงส์เกต และตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทย ได้เดินทางไปที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อให้ปากคำและแสดงหลักฐาน ซึ่งหลังจากนี้นับถอยหลังภายใน 6 เดือน ประมาณเดือนสิงหาคม 2563 ก็จะมีผลคำวินิจฉัยออกมาว่า เป็นเช่นไร ซึ่งจากการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบเหมืองทองอัคราฯ ในคราวนั้น คณะทำงานจึงได้ประชุมร่วมกันที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดพิจิตร โดย นายพยนต์ อัศวพิชยนต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ว่า คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เพื่อมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็สืบเนื่องมาจากกรณี ซึ่งทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส ) ได้ทำหนังสือมายังจังหวัดพิจิตร มีการประชุมที่อำเภอทับคล้อไปครั้งหนึ่งแล้ว ก่อนหน้านั้น จากนั้นจึงได้ลงไปดูพื้นที่จริงที่เหมืองทองอัคราฯ และได้นำข้อมูลข้อเท็จจริงที่ไปตรวจพบเจอเอามาประชุมสรุปกันในวันนี้ ผลการประชุมก็มีมติว่า ในส่วนของการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน คือ เรื่องของการใช้ทางสาธารณประโยชน์ที่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับอนุญาต ทาง บก.ปทส. ได้แจ้งมาทั้งหมด 9 เส้นทาง ตรวจพบ 4 เส้นทาง ที่มีการขออนุญาตถูกต้อง อีก 5 เส้นทาง ทางคณะกรรมการได้ไปตรวจดูแล้ว มีความเห็นว่า จะขอให้ทาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส ) ช่วยส่งคนหรือว่าส่งพิกัดที่แน่ชัดมาให้ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าทางคณะทำงานที่ลงพื้นที่ไปพบเจอแล้วนั้นไม่มั่นใจว่าสิ่งที่พบเจอมันใช่กับจุดเดียวกับที่ บก.ปทส แจ้งมาหรือไม่? อีกทั้งบริเวณพื้นที่มันมีการเปลี่ยนแปลงสภาพไปจากการทำเหมืองทองของอัคราฯ จึงอยากให้ บก.ปทส มาร่วมตรวจสอบกับทางคณะทำงานของทางจังหวัดพิจิตรด้วย อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องการบุกรุกที่ป่า ซึ่งก็พบว่ามีข้อเท็จจริงจากในพื้นที่ ว่า อาจจะมีการบุกรุกจริง แต่ก็ต้องขอให้ทาง บก.ปทส ช่วยส่งพิกัดที่แน่ชัด มาให้ หรือ ให้ทางบก.ปทส มาร่วมตรวจสอบกับทางคณะทำงานของจังหวัดเพื่อความชัดเจนก่อนที่จะดำเนินการต่อไป